|

PHATTHALUNG PROVINCE
บุคคลสำคัญด้านศิลปกรรมและวรรณกรรม
ขุนอุปถัมภ์นรากร
ขุนอุปถัมภ์นรากร มีนามเดิมว่า พุ่ม ช่วยพูลเงิน เป็นบุตรนายเงิน และนางชุ่ม ช่วยพูลเงิน เกิดที่บ้านชะมวง หมู่ที่ ๒
ตำบลดอนทราย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๖ รวมอายุได้ ๙๓ ปี
ขุนอุปถัมภ์นรากร ได้รับการศึกษาชั้นต้นกับพระครูกาเดิม (หนู) วัดวิหารเบิก ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง
ต่อมาได้ศึกษาและฝึก รำโนรากับนายชม ที่ตำบลป่าพะยอม อำเภอควนขนุน อยู่ ๒ ปี แล้วได้ไปศึกษารำโนราต่อกับนายไข่โก บ้านไม้เสียบ
อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ๖ ปี จนมีความชำนาญ รำได้สวย อ่อนช้อย ประชาชนนิยมชมชอบกันมากจนได้ สมญาว่า "พุ่มเทวา"
โนราพุ่มเทวา เป็นที่รักของผู้คบหาสมาคมทั่วไป เพราะเป็นบุคคลที่เรียบร้อย สุภาพอ่อนโยน และประพฤติตนอย่างเคร่งครัด
ผลงานได้ออกรำโนราไปทั่วทุกเมืองในภาคใต้ ตลอดถึงแดนมาเลเซีย เมื่ออายุ ๒๕ ปี ได้รับการแต่งตั้งเป็นกำนัน
ตำบลชะมวง อำเภอควนขนุน ได้ปฏิบัติงานในหน่าที่เป็นอย่างดี จนได้รับกพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนอุปถัมภ์นรากร" ถือศักดินา ๔๐๐ ไร่
ใน พ.ศ.๒๔๗๓ ต่อมาในปี ๒๔๘๕ ได้ลาออกจากตำแหน่งกำนัน เพื่อประกอบอาชีพส่วนตัว แต่ก็ยังบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อส่วนรวมอยู่เสมอ
จนในปี ๒๔๙๗ ได้รับเลือกเป็นคนขยันของชาติ ได้รับแหวนทองคำจารึก "คนขยันของชาติ"
ขุนอุปถัมภ์นรากร เป็นผู้มีความตั้งใจบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมและอนุรักษ์ "โนรา"
ศิลปะพื้นเมืองของภาคใต้ จึงอบรมสั่งสอน ถ่ายทอดศิลปะการร่ายรำโนราให้แก่ศิษย์ในสถาบันต่างๆ ในภาคใต้
นับได้ว่าท่านเป็นผู้มี บทบาทสำคัญในการฟื้นฟูส่งเสริมถ่ายทอดอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ไว้ให้คงอยู่
และได้เผยแพร่ไปถึงต่างประเทศจนได้รับ เกียรติคุณที่สำคัญ คือ
๑. ปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสภาการฝึกหัดครู ปีการศึกษา ๒๕๒๔
๒. โล่เกียรติคุณผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านศิลปการแสดงโนรา จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
พ.ศ.๒๕๒๓
ผู้นำทางศาสนา
พระธรรมวงศาจารย์ (เพียร อุตตโม)
พระธรรมวงศาจารย์ (เพียร อุตตโม) นามเดิม เพียร ฤทธิเดช เป็นบุตรของนายชู นางเอียด ฤทธิเดช
เกิดที่บ้านดอนเค็ด หมู่ที่ ๑๐ ตำบลเขาเจียก อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๔๙ ครองตนในสมณเพศมาตั้งแต่
พ.ศ. ๒๔๔๖ จนถึงปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๓๘ รวมเวลา ๗๒ พรรษา ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์มาโดยลำดับ
ดำรงตำแหน่งผู้บริหารในศาสนจักรมายาวนานถึง ๕๐ ปีเศษ ปัจจุบันเป็น "เจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์" และเป็น "เจ้าคณะภาค ๑๘"
ซึ่งปกครองดูแลสงฆ์ในเขตภาคใต้ตอนล่าง คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล และพัทลุง รวม ๖ จังหวัด
จนภารกิจพระศาสนาเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ ได้ปฏิบัติภารกิจหลายอย่างอันเป็นประโยชน์ แก่สาธารณชนในจังหวัดพัทลุง และจังหวัดใกล้เคียง
โดยเฉพาะงานทำนุบำรุงพุทธศาสนา และงานส่งเสริมการศึกษาทั้งของพระภิกษุ สามเณร และเยาวชนให้มีความเจริญ
ก้าวหน้าดังเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งโดยทั่วไป
พระธรรมวงศาจารย์ (เพียร อุตตโม) ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นบรรพชิตผู้มีศีลาจารวัตรอันงดงาม
มีความคิดสร้างสรรค์ อย่างยอดเยี่ยม เปี่ยมด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ ก่อกำเนิดและพัฒนางานการศึกษาทำนุบำรุงศาสนาให้สถิตมั่น
ยืนนานกล่าวขานให้เป็น "ปูชนียบุคคล" โดยแท้จริง และสมควรอย่างยิ่งแก่การยกย่องเชิดชูเกียรติประวัติของจังหวัดพัทลุงสืบไป
โดยได้รับปริญญาบัตร ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ดังนี้
พ.ศ.๒๕๒๘ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยอนุมัติสภาพมหาวิทยาลัยถวายปริญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สาขาครุศาสตร์
พ.ศ.๒๕๓๘ สภาสถาบันราชภัฏถวายปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์สายเทคนิคการศึกษา
โปรแกรมวิชาการบริหารการศึกษา
ผู้นำท้องถิ่น
นางบุญเอื้อ สุภาพรเหมินทร์
นางบุญเอื้อ สุภาพรเหมินทร์ เดิมชื่อ บุญเอื้อ รอดชู เป็นธิดา ของกำนันคล้ายและนางสุ้น รอดชู เป็นชาวตำบลแพรกหา
อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๘ แล้วประกอบอาชีพเป็นครูในโรงเรียนเอกชนใกล้บ้าน
แต่เมื่อสมรสกับนายเกริกพล สุภาพรเหมินทร์ ก็ได้ลาออกประกอบอาชีพเกษตรกรรมในที่ดิน ๓๐ ไร่ ขยายเป็น ๓๐๐ - ๕๐๐ ไร่ ในเวลา ๒๔ ปี
ช่วงนี้เองจึงได้เริ่มบทบาทช่วยเหลืองานสังคม โดยร่วมมือกับหน่วยงานราชการและเอกชน ทุกสังกัด จนมีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัด
โดยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดและเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นของจังหวัดพัทลุง
ผลงานของนางบุญเอื้อ สุภาพรเหมินทร์ ปรากฏออกมา ๒ ลักษณะ ดังนี้
๑. การส่งเสริมอาชีพเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชนบทให้ดีขึ้น ได้แก่ การทอผ้าด้วยกี่กระตุก การจักสาน เสริมสวย
ตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างไม้ ทำกระเป๋าหนัง ศิลปประดิษฐ์ เลี้ยงสัตว์ การทำนาแผนใหม่ การปลูกพืชหมุนเวียนหลังฤดูเก็บเกี่ยว
๒. การพัฒนาโดยร่วมพัฒนาหมูบ้านแพรกหา หมู่บ้านเข้าป้าเจ้ และหมู่บ้านอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกตำบล
การปฏิบัติงานดังกล่าวดำเนินไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพจนมีผลงานดีเด่นมากมาย
ทั้งที่สร้างเกียรติประวัติให้กับตัวเองและชุมชน ที่สำคัญคือ
๑. เป็นคนไทยตัวอย่างด้านการพัฒนาอาชีพในหมู่บ้านยากจน ประจำปี ๒๕๒๘ ของมูลนิธิธารน้ำใจ
๒. เป็นคนไทยที่มีผลงานดีเด่น สาขาพัฒนาชุมชนและชนบท จากมูลนิธิเอกลักษณ์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี ปี ๒๕๓๐
๓. ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์ จากสภาวิทยาลัยครู ปี ๒๕๓๑
จนทุกวันนี้ นางบุญเอื้อ สุภาพรเหมินทร์ ก็ยังทำงานรับใช้สังคมโดยไม่เหน็ดเหนื่อย
จึงสมควรยกย่องเชิดชูเป็นผู้นำท้องถิ่นพัทลุง
ปราชญ์ชาวบ้าน
พระธรรมเมธาจารย์
พระธรรมเมธาจารย์ มีชื่อเดิมว่า ทัน กาญจโนภาส เป็นบุตรของนายเอียด และนางชุม กาญจโนภาส เกิดเมื่อวันที่ ๓๐
พฤษภาคม ๒๔๔๖ ที่บ้านวังเนียง ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ตลอดชีวิตดำรงสมณภาพเป็นสามเณร
พระภิกษุผู้ทรงคุณธรรม และได้รับเลื่อนสมณศักดิ์มาโดยลำดับ ที่สำคัญคือ เป็นเจ้าอาวาสวัดภูผาภิมุข อำเภอเมืองพัทลุง เพียงวัดเดียวมาตลอด
ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๗ จนมรณภาพในปี ๒๕๓๗ จึงเป็นพระสงฆ์ ที่สร้างสรรค์ประโยชน์อย่างมากแก่จังหวัดพัทลุง โดยมีผลงานที่เด่นชัดดังนี้
๑. พ.ศ.๒๔๗๗ เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดพัทลุงฝ่ายธรรมยุต ได้ปรับปรุงและก่อสร้างกุฏิถาวรขึ้นหลายหลัง
สร้างโรงเรียนปริยัติธรรม เปิดสอนบาลีและนักธรรม
๒. พ.ศ.๒๔๙๘ ได้ต่อเติมอุโบสถและผูกพัทธสีมา อุโบสถนี้มีลักษณะสวยงาม เป็นสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่
๓. ได้ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่วัดภูผาภิมุข โดยเก็บรวมบรวมศิลปะโบราณวัตถุ
ที่พบในจังหวัดพัทลุง และบริเวณใกล้เคียงไว้มากมาย เช่น ใบพัทธสีมาหินทรายแดง พระพุทธรูปสมัยต่างๆ เครื่องถ้วยชามสังคโลก
เครื่องมือเครื่องใช้ในท้องถิ่น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อ การศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมในท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง
๔. เป็นอนุศาสนาจารย์โทของกรมการศาสนา เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของชาวพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างดี
๕. เป็นผู้เก็บรวบรวมหนังสือวรรณกรรมท้องถิ่นในจังหวัดพัทลุงไว้เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งได้เป็นผู้จัดพิมพ์เรื่อง
"สุทธิกรรมชาดก" วรรณกรรมชิ้นเอกของพัทลุงออกเผยแพร่และเขียนบทความเรื่องราวของประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรม
ในจังหวัดพัทลุงออกเผยแแพร่โดยใช้ชื่อเรื่องว่า "เทพสาร"
จะเห็นได้ว่า พระธรรมเมธาจารย์ เป็นผู้มีความสนใจและรักหวงแหนในศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นพัทลุง
จึงได้พยายามศึกษา ค้นคว้าและเก็บรวบรวมหลักฐานเหล่านี้ไว้ เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าของอนุชนรุ่นหลัง
นับได้ว่าท่านเป็นปราชญ์ชาวบ้าน พัทลุงโดยแท้จริง
ความเชื่อ
ไสยศาสตร์วัดเขาอ้อ
วัดเขาอ้อ เป็นวัดเก่าแก่โบราณวัดหนึ่ง ที่มีความสำคัญทางด้านศิลปะและโบราณคดี ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลมะกอกเหนือ
อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ชาวพัทลุงเชื่อกันว่าเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีชื่อเสียงทางด้านความเชื่อทางไสยศาสตร์มาตั้งแต่โบราณกาล
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ท่านเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อหลายต่อหลายองค์ ล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องไสยศาสตร์
วิชาการ เวทมนตร์ และคาถาต่างๆ จึงได้รับการ รักษาถ่ายทอดสืบต่อกันมามิได้ขาดสาย จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ
ความเชื่อทางไสยศาสตร์ของวัดเขาอ้อที่นิยมใช้ประกอบพิธีกรรม ที่สำคัญมีอยู่ ๔ วิธี คือ
๑. พิธีเสกว่านให้กิน ทำโดยการนำว่านที่เชื่อว่ามีสรรพคุณทางด้านอยู่ยง คงกระพัน มาลงอักขระเลขยันต์
แล้วนำไปปลุกเสกด้วยอาคมตามหลักไสยศาสตร์ หลังเสร็จพิธีจะนำมาแจกจ่ายให้กิน
๒. พิธีหุงข้าวเหนียวดำ ทำโดยนำเครื่องยาสมุนไพร หรือว่านต่างๆ ไม่น้อยกว่า ๑๐๘ ชนิด
มาต้มเอาน้ำยาใช้หุงกับข้าวเหนียวดำ เมื่อข้าวเหนียวสุกแล้วนำไปเข้าพิธีปลุกเสก ก่อนนำมาป้อนให้กิน
๓. พิธีเสกน้ำมันงาดิบ ทำโดยใช้นำน้ำมันงาดิบหรือน้ำมันยางแดงผสมว่าน
พระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีนั่งบริกรรมคาถาจนน้ำมันแห้ง แล้วจึงนำมาป้อนให้กิน
๔. พิธีแช่ว่านยา ทำโดยให้ผู้ต้องการเข้าประกอบพิธีกรรม ลงไปนอนแช่ ในน้ำว่านยา ที่ได้ปลุกเสกตามหลักไสยศาสตร์
จากพระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีกรรมมาแล้ว
เชื่อกันว่าศิษย์จากสำนักวัดเขาอ้อที่ได้เล่าเรียนวิชา และผ่านพิธีกรรมต่างๆ ทางไสยศาสตร์ที่กล่าวมาแล้วนั้น
ย่อมมีพลังร่างกายที่คงกระพัน และศิษย์เอกคนสำคัญ แห่งสำนักวัดเขาอ้อแห่งนี้ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วไป คือ อาจารย์นำ แก้วจันทร์
อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนศาลากับ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช
การละเล่นพื้นบ้าน
โนรา
โนราเป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ ซึ่งมีมาแต่โบราณ และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย นิยมเล่นกันมาทั่วภาคใต้
โดยเฉพาะที่จังหวัดพัทลุงนิยมเล่นโนราไม่แพ้หนังตะลุงบรมครูโนราที่ชาวภาคใต้และชาวพัทลุงยกย่องและรู้จักเป็นอย่างดี คือ ขุนอุปถัมภ์นรากร
(พุ่มเทวา) ก็เป็นชาวอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
การแสดงโนรา เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร่ายรำ บทร้องประกอบดนตรี บทเจรจา และบางทีก็มีการแสดงเรื่องด้วย
โดยทั่วไปมักจะแสดงในงานเทศกาลนักขัตฤกษ์ งานมงคลทั่วไป หรืองานเฉลิมฉลองต่างๆ บางโอกาสก็แสดงตามคติความเชื่อที่เป็น
พิธีกรรมเพื่อแก้บนหรือ "แก้เหฺมฺรย" ในพิธีโรงครูของครอบครัวที่ที่เชื้อสายตายายโนรา
เครื่องดนตรีของโนราคล้ายกับเครื่องดนตรีของหนังตะลุง คือ มีทับ กลอง ปี่ โหม่ง ฉิ่ง และแตระ
เครื่องดนตรีเหล่านี้จะใช้ประกอบจังหวะและเสียงร้องให้เข้ากับการรำ
การแสดงจะเริ่มด้วยการโหมโรงและกาดครู ก่อนตัวแสดงจะออกมาร่ายรำหน้าเวที มีการกล่าวบทหน้าม่านที่เรียกว่า
"กำพรัดหน้าม่าน" โดยใช้ลีลากลอนหนังตะลุง ต่อจากนั้นตัวแสดงแต่ละตัวจะออกมาร่ายรำ เสร็จแล้วเข้า ไปนั่งที่พนักซึ่งแต่เดิมทำด้วยไม้ไผ่
แต่ปัจจุบันก็ใช้เก้าอี้แทน ว่าบทร่ายแตระแล้วทำบท "สีโน ผันหน้า" โดยร้องบทและตีท่าตามบทนั้นๆ หลังจากรำบทร่ายแตระเสร็จแล้ว
ก็จะว่ากลอนสี่ กลอนหก กลอนแปด กล่าวกับผู้ชายหรือว่าเรื่องอื่นๆ โดยมีลูกคู่รับแต่หากเป็นการแข่ง โนราประชันโรง ก็จะมีวิธีการซับซ้อนกว่านี้
ปัจจุบันแม้ว่าโนราไม่ได้เป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างในอดีต แต่โนราก็เป็นมรดก ทางวัฒนธรรมที่กลุ่มชนพื้นบ้านได้ร่วมกันสร้างสรรค์
ขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการ ของชีวิตและสังคม โนราจึงมีความผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านมาช้านาน
ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านและความเป็นไปของสังคมไว้เกือบทุกแง่ทุกมุม เพราะนอกจากโนรา
จะมีบทบาทในฐานะที่เป็นสื่อบันเทิงแล้ว ยังมีบทบาทในฐานะ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อของชาวบ้านอีกด้วย
ฉะนั้นวิถีชีวิตของ ชาวบ้านจึงมีความเกี่ยวข้องกับโนราอย่างแยกไม่ออก
ตำนานและนิทาน
นิทานตำนานนางเลือดขาว
ตำนานนางเลือดขาวเป็นตำนานท้องถิ่นที่แพร่หลายทั่วไปในจังหวัดพัทลุงและหลายๆ จังหวัดในภาคใต้
เป็นนิทานที่ชาวบ้าน เล่าสืบทอดกันมาแต่โบราณกาล ทำนองเรื่องอภินิหารยืดยาว แสดงบุญญาธิการ
แสดงการเดินทางสร้างสาธารณกุศลของผู้มีบุญ
เนื้อเรื่องเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการตั้งเมืองพัทลุง พร้อมกับการตั้งพระวัดเขียน วัดสทังและวัดสทิงพระ
ต่อจากนั้นกล่าวถึง ตำนานนางเลือดขาว และพระยากุมารผู้สร้างเมืองพัทลุงที่บางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
ตำนานนางเลือดขาวนอกจากจะเป็นเรื่องราวที่มีอิทธิพลต่อการสร้างประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองพัทลุงแล้ว
ยังมีอิทธิพลต่อ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และความเชื่อของชาวพัทลุงอีกด้วย
จึงถือได้ว่าเป็นนิทานหรือตำนานที่มีความสำคัญและ น่าสนใจที่สุด